This is a cache of https://www.thaiairways.com/th_TH/plan/travel_information/health_and_well_being_onboard.page?section=4. It is a snapshot of the page at 2024-10-04T01:46:28.142+0700.
Travel | Information | Thai Airways

ข้อมูลการเดินทาง

เดินทางสบายๆ กับการบินไทย

การตรวจสุขภาพก่อนการเดินทาง

ผู้โดยสารระหว่างประเทศควรตรวจสอบและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพและข้อมูลการฉีดวัคซีนก่อนการเดินทาง และควรศึกษาข้อควรระวังและข้อมูลสถานการณ์ของประเทศปลายทางทั้งก่อนและระหว่างการเดินทาง

 

ระหว่างอยู่บนเครื่อง

การเดินทางโดยเครื่องบินอาจทำให้เกิดความอ่อนล้า ความเครียด ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ปวดหู เท้าบวม ปวดเมื่อย นอนไม่หลับ หรือที่ร้ายแรงที่สุดคือเส้นเลือดดำที่ขาอุดตัน

วิธีหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้เพื่อให้การเดินทางราบรื่น คือ

- อย่ารับประทานอาหารหนัก และมีปริมาณมากเมื่ออยู่บนเครื่อง

- สูดหายใจลึกๆ พยายามผ่อนคลายอารมณ์เพื่อลดการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหารอันเป็นสาเหตุของอาการท้องอืด
- พยายามดื่มน้ำเปล่า หรือน้ำผลไม้ให้มากๆ และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือมีกาเฟอีนเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
- ใช้แว่นสายตาแทนการใส่คอนแทคเลนส์ เนื่องจากตาจะแห้งกว่าปกติเมื่ออยู่บนเครื่องบิน ถ้าต้องการใช้คอนแทคเลส์ควรหยอดน้ำตาเทียมเป็นระยะ
- ทาครีมบ่อยๆ เพื่อไม่ให้ผิวแห้ง
- ใส่เสื้อผ้าที่ไม่คับเกินไป ถอดรองเท้าระหว่างอยู่บนเครื่อง และพยายามเดินเพื่อลดอาการปวดเมื่อยจากการนั่งนานๆ
- บริหารร่างกาย ขยับขาและข้อเท้าตามคำแนะนำบนเครื่อง
- ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับยารับประทานก่อนขึ้นเครื่อง หากท่านมีอาการเมาเครื่องบิน และพยายามมองวัตถุที่นิ่งเมื่อเครื่องบินตกหลุมอากาศ เพื่อลดอาการเมาเครื่องบิน
- ล้างมือบ่อยๆ เพื่อสุขอนามัย
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรปรับการรับประทานยาและอาหารตามเขตเวลาที่เปลี่ยนแปลง สำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องฉีดยาอินซูลินควรแจ้งสารการบินก่อนออกเดินทาง รวมทั้งเตรียมใบรับรองแพทย์ (ภาษาอังกฤษ) ไว้เมื่อต้องนำเข็มและหลอดฉีดยาขึ้นเครื่อง

 

อาการที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเดินทางโดยเครื่องบิน

อาการปวดหูหรือปวดโพรงจมูก

เวลาเครื่องขึ้นลงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงความกดดันอากาศในเครื่อง ผู้โดยสารที่เป็นโรคภูมิแพ้ ไซนัสเรื้อรังจะมีอาการมากกว่าผู้โดยสารอื่น อากาศในเครื่องจะแห้งกว่าปกติทำให้เยื่อบุโพรงจมูกบวม ท่อที่เชื่อมระหว่างหูส่วนกลางและโพรงจมูกจะทำงานไม่ได้ดี และเมื่อเครื่องลงอาการปวดหูหรือหูอื้อจะเป็นมากขึ้น อาการเหล่านี้จะบรรเทาได้ถ้าปฏิบัติตัวดังนี้
- ดื่มน้ำมากๆ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ร่างกาย
- ใช้ยาลดบวมพ่นจมูก หรือรับประทานยาแก้แพ้ประมาณ 30 นาทีก่อนเครื่องลงเพื่อลดอาการบวมของท่อที่เชื่อมหูส่วนกลางและโพรงจมูก
- เคี้ยวหมากฝรั่ง อ้าปากหาวกว้างๆ หรือใช้มืออุดจมูกแล้วเป่าลมแรงๆ (Vasalva) เพื่อช่วยลดอาการหูอื้อ

 

อาการอ่อนเพลียจากการเดินทางข้ามเขตเวลาบนเที่ยวบินระยะไกล

อาจทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ อ่อนเพลีย วิงเวียน ท้องผูก ความตื่นตัวลดลง อาการเหล่านี้จะเป็นมากในผู้สูงอายุ ผู้ที่เดินทางกลางคืน หรือเดินทางจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก การเตรียมตัวดังต่อไปนี้จะช่วยลดอาการอ่อนเพลียจากการเดินทางได้
- ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
- อาจใช้ยาเมลาโทนินหรือยานอนหลับอ่อนๆ ช่วย (ห้ามใช้เมลาโทนินในเด็ก ผู้ใช้ยาละลายลิ่มเลือด ผู้มีโรคลมชัก)
- นอนและตื่นให้เร็วขึ้น 1 ชั่วโมงเป็นเวลา 3 วันก่อนการเดินทางจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก และในทิศตรงข้ามนอนและตื่นให้ช้าลง
- เมื่อเดินทางถึงที่หมายแสงสว่างจากดวงอาทิตย์สามารถช่วยในการปรับตัว

 

โรคหลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน

โรคนี้มีเรียกอีกชื่อว่าโรคของผู้โดยสารชั้นประหยัด มักจะเกิดขึ้นเมื่อต้องเดินทางระยะไกล รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศในเครื่อง ความชื้น และ ปริมาณออกซิเจนที่ลดลง การที่ต้องนั่งนานๆ การที่ดื่มน้ำไม่พอ โรคนี้อาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิต คือการอุดตันของหลอดเลือดดำในปอด โรคหลอดเลือดดำที่ขาอุดตันอาจเกิดหลังการเดินทางมาแล้วหลายวัน อาการที่แสดงมี ปวดน่อง ข้อเท้าและน่องบวมตึง มีไข้ หรือมีอาการวิงเวียน โรคนี้ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในผู้โดยสารกลุ่มเสี่ยง เช่น
- มีอายุเกิน 40 ปี
- มีประวัติหลอดเลือดดำอุดตัน
- เพิ่งได้รับการผ่าตัด โดยเฉพาะการผ่าตัดช่องท้อง สะโพก หรือขา
- ผู้ที่ไม่ได้เคลื่อนไหวเป็นเวลานาน
- มีปัญหาเรื่องการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ หรือมีปัญหาเลือดข้น
- กำลังตั้งครรภ์ หรือเพิ่งคลอดบุตร
- เป็นโรคมะเร็ง
- มีประวัติโรคหัวใจ
- รับประทานฮอร์โมนเพื่อการรักษา ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจน รับประทานยาคุมกำเนิด
- มีเส้นเลือดขอด
- น้ำหนักเกินมากไป

 

เพื่อลดการเกิดโรคนี้ ควรปฏิบัติดังนี้

- ใส่เสื้อผ้าหลวมสบาย
- สวมถุงน่องสำหรับผู้ที่เป็นโรคเส้นเลือดขอด
- ดื่มน้ำมากๆ ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือกาแฟ
- อย่านำกระเป๋าถือไว้ใต้เก้าอี้ข้างหน้า เพื่อให้สามารถขยับขาได้
- ลุกเดินบ่อยๆ
- ผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อนเดินทางเพื่อให้ยาป้องกันประเภทยาฉีดเฮปารีนหรือยาแอสไพริน 
- บริหารร่างกายตามคำแนะนำที่มีบนเครื่อง

 

ความช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหาสุขภาพบนเครื่อง

บริษัทการบินไทยฯ เช่นเดียวกับสายการบินพาณิชย์อื่นๆ จะมียาและเวชภัณฑ์ฉุกเฉินที่จำเป็นตามกฎการบินอยู่บนเครื่อง พนักงานต้อนรับจะได้รับการฝึกเพื่อการช่วยเหลือเบื้องต้น อาจมีการประกาศขอความช่วยเหลือจากแพทย์ที่เดินทางอยู่ในเที่ยวบินนั้น ยาและเวชภัณฑ์ฉุกเฉินมีดังนี้
- กระเป๋าฉุกเฉินเบื้องต้นสำหรับพนักงานต้อนรับใช้ปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- กระเป๋าช่วยชีวิต (มีกระเป๋าขาว และดำอย่างละหนึ่งใบ) เป็นกระเป๋ายาฉุกเฉินที่จะเปิดโดยแพทย์เพื่อใช้ช่วยเหลือผู้ป่วยหรือเมื่อมีการต้องใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจอัตโนมัติ
- เครื่องกระตุ้นหัวใจอัตโนมัติ ซึ่งพนักงานต้อนรับได้รับการฝึกการใช้งานเมื่อจำเป็น
- รถเข็นบนเครื่องสำหรับเที่ยวบินระยะยาว

ข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัย

โปรดระวังของร้อน

ระหว่างเที่ยวบินของท่าน พนักงานต้อนรับอาจให้บริการท่านด้วยเครื่องดื่มร้อน ดังนั้นเพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากการถูกน้ำร้อนลวก ใคร่ขอความร่วมมือจากผู้โดยสารดังนี้ - กรณีพนักงานต้อนรับใช้ถาดเพื่อบริการเครื่องดื่ม กรุณารอจนพนักงานรินเครื่องดื่มให้ท่านเสร็จเรียบร้อยก่อน แล้วจึงหยิบแก้วเครื่องดื่มด้วยความระมัดระวัง - กรณีไม่ใช้ถาดเพื่อบริการ กรุณถือแก้วที่บริเวณด้ามจับและรอจนพนักงานรินเครื่องดื่มใส่แก้วให้ท่านเสร็จเรียบร้อยก่อน แล้วจึงค่อยดึงแก้วกลับ มิเช่นนั้นเครื่องดื่มร้อน หกรดท่านผู้โดยสารจนเกิดอาการบาดเจ็บได้

การนอนบนพื้นในห้องโดยสาร

เก้าอี้นั่งของท่านผู้โดยสารในเครื่องบินทุกแบบของบริษัทการบินไทยฯได้ถูกออกแบบให้มีความเหมาะสมสะดวกสบายและปลอดภัยถูกต้องตามกฏการบินสากล แต่ในบางเที่ยวบินที่ใช้เวลายาวนาน การที่ท่านผู้โดยสารบางท่านอาจต้องการเปลี่ยนอิริยาบทด้วยการลงไปนอนที่พื้นในห้องโดยสารตรงที่นั่งของท่านเองนั้น เป็นเรื่องที่อาจส่งผลต่อความปลอดภัยในการเดินทางของท่าน เนื่องจากการนอนพักผ่อนบนพื้นซึ่งแม้จะมองด้วยตาเปล่าว่าสะอาดเรียบร้อยแต่ก็อาจมีฝุ่นละอองเล็กๆกระจายขึ้นมาจนทำให้ท่านเกิดอาการแพ้และเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ประกอบกับออกซิเจนบนเครื่องก็อาจกระจายลงไปได้ไม่เต็มที่และเพียงพอในส่วนพื้น อันจะเป็นผลให้ท่านหายใจไม่สะดวกตลอดเวลาที่พักผ่อนซึ่งเมื่อตื่นนอนอาจเกิดการวิงเวียนมึนงง และที่สำคัญที่สุดคือการนอนบนพื้นที่อยู่ใกล้ชิดกับโลหะที่ประกอบเป็นเก้าอี้โดยสารและส่วนที่เป็นพื้นของห้องโดยสาร เมื่อเกิดสภาวะอากาศแปรปรวนอาจทำให้เกิดการกระแทกรุนแรงจนเกิดอาการบาดเจ็บได้

ข้อห้ามและคำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่เดินทางโดยเครื่องบิน

ผู้โดยสารที่มีปัญหาสุขภาพควรต้องพบแพทย์ก่อนเดินทางเพื่อลดความเสี่ยง และควรมียาประจำตัวพกพาในกระเป๋าที่ถือขึ้นเครื่อง ผู้โดยสารที่ใช้ข้อเทียม ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ หรือต้องมีเครื่องมือแพทย์ขึ้นเครื่องต้องนำใบรับรองแพทย์ติดตัว

ผู้โดยสารพิการที่ต้องได้รับความช่วยเหลือระหว่างอยู่บนเครื่องควรต้องมีผู้ร่วมเดินทางด้วย และควรแจ้งให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องทราบล่วงหน้า

ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาและมีอาการคงที่ หรืออาจมีอาการทรุดลงระหว่างเดินทางต้องยื่นเอกสารขออนุมัติการเดินทางกับสายการบิน (MEDIF หรือ Medical Information Form) ก่อนที่จะจองที่นั่ง และควรต้องระบุปริมาณออกซิเจนที่ต้องใช้บนเครื่อง ต้องใช้เปลนอนหรือไม่ สายการบินอาจปฏิเสธหรือขอเลื่อนวันเดินทางถ้าเห็นว่าอาการของผู้ป่วยยังไม่ปลอดภัยพอ เช่นเดียวกันอาจขอให้เปลี่ยนวิธีเดินทาง เช่น ลักษณะของที่นั่ง การใช้ออกซิเจน หรือควรมีแพทย์และ/หรือพยาบาลร่วมเดินทางกับผู้ป่วย

- เด็กแรกเกิดอายุต่ำกว่า 7 วัน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงความกดดันอากาศในเครื่อง และสำหรับเด็กคลอดก่อนกำหนดต้องมีการยื่น MEDIF เพื่อขออนุมัติการเดินทาง
- สตรีมีครรภ์ที่ไม่มีปัญหาสุขภาพ สามารถเดินทางโดยเครื่องบินได้ แต่ไม่ควรเดินทางโดยเครื่องบินบ่อยๆ ในระยะแรกของการตั้งครรภ์เนื่องจากออกซิเจนบนเครื่องเบาบางกว่าอาจเป็นอัตรายต่อทารกในครรภ์ได้ ข้อบังคับสำหรับสตรีมีครรภ์ของสายการบินมีดังนี้
1. อายุครรภ์เกิน 28 อาทิตย์ต้องมีใบรับรองแพทย์บอกกำหนดการคลอด และรับรองความปลอดภัยในการเดินทาง
2. การตั้งครรภ์ปกติและไม่ใช่ครรภ์แฝดสามารถเดินทางได้จนถึงอายุครรภ์ 36 อาทิตย์ ถ้าระยะเวลาบินไม่เกิน 4 ชั่วโมง และอายุครรภ์ 34 อาทิตย์ ถ้าระยะการบินเกิน 4 ชั่วโมง ทั้งนี้ต้องมีใบแพทย์ชี้แจงวันคลอดและรับรองความปลอดภัยของการเดินทาง
3. ครรภ์แฝด หรือครรภ์ที่มีปัญหา เช่น รกเกาะต่ำ มีประวัติคลอดก่อนกำหนด เป็นต้น ไม่สมควรเดินทางไกลโดยเครื่องบิน ยกเว้นมีการขอผ่าน MEDIF และได้รับอนุมัติการเดินทาง
4. อายุครรภ์เกิน 36 อาทิตย์จะไม่ได้รับการอนุมัติให้ขึ้นเครื่อง

- ผู้ที่มีปัญหาโรคหัวใจและโรคทางเดินหายใจ

ควรเตรียมยาที่ใช้ประจำให้ครบเพียงพอในการเดินทาง และถือขึ้นเครื่อง มีรายละเอียดและวิธีใช้ของยาแต่ละตัวแยกไว้ เพื่อเก็บไว้สำรองใช้กรณียาที่มีอยู่หายและไม่ควรเดินมากๆ ขณะอยู่ในเครื่องบิน ผู้ป่วยที่ยังไม่สมควรเดินทางโดยเครื่องบินมีดังนี้
1. ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอกที่ยังควบคุมไม่ได้
2. ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวายเรื้อรัง ต้องมีอาการปกติ สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติโดยไม่เจ็บหน้าอก ไม่หอบเหนื่อย หรือไม่มีหัวใจเต้นผิดปกติ โดยทั่วไปแล้วควรรออย่างน้อย 4-6สัปดาห์ แต่ถ้าจำเป็นก็สามารถเดินทางหลังจากมีอาการ 2-3 สัปดาห์ได้ แต่ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์และต้องแจ้งสายการบินเพื่อขอออกซิเจนในกรณีที่จำเป็น
3. ผู้ป่วยที่ผ่าตัดต่อเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ ไม่ควรเดินทางภายใน 2 สัปดาห์ภายหลังผ่าตัดเพื่อรอให้อากาศที่อยู่ในช่องหน้าอกขณะผ่าตัดถูกดูดซึมหมดก่อน
4. โรคหัวใจล้มเหลว
5. โรคความดันโลหิตสูงที่ยังควบคุมไม่อยู่ (ความดันตัวบนเกิน 160 mmHg) ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง สามารถเดินทางได้ถ้าได้รับการรักษาก่อน และควรเตรียมยาให้เหมาะสมกับการเดินทาง และเวลาที่เปลี่ยนไป
6. โรคหัวใจเต้นผิดปกติที่ยังรักษาไม่ได้ ไม่ได้ยาละลายลิ่มเลือด หรืออยู่ระหว่างคอยการใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ
7. โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ และมีอาการเหนื่อยหอบ
8. ผู้ที่ไปดำน้ำลึก หรือเกิดอาการป่วยจากความกดดันที่ลดลง (decompression sickness) ต้องคอยอย่างน้อย 24 ชั่วโมงหลังหยุดดำน้ำหรือหลังหายจากอาการก่อนเดินทางโดยเครื่องบิน
9. โรคปอดรั่วที่ยังไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาแล้วแต่อาการยังไม่คงที่ และอาจเกิดการรั่วระหว่างอยู่บนเครื่อง
10. อาการน้ำท่วมในช่องเยื่อหุ้มปอดที่ยังไม่ได้รับการรักษา
11. ผู้ป่วยโรคหอบหืด ถ้ายังมีอาการรุนแรง อาการยังไม่คงที่ หรือเพิ่งออกจากโรงพยาบาลไม่สมควรเดินทาง แต่ในรายที่มีอาการน้อยควรจะต้องมียาติดตัวขึ้นเครื่องไปด้วยโดยเฉพาะยาชนิดพ่นขยายหลอดลม
12. ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง สามารถเดินทางได้ถ้าไม่มีอาการหอบเหนื่อย หายใจตื้น เวลาเดินหรือเวลาขึ้นบันได แต่การเดินทางโดยเครื่องบินจะมีปัญหาออกซิเจนไม่เพียงพอเมื่ออยู่บนเครื่อง ควรเช็คค่าความกดดันของออกซิเจนในปอดก่อนทำการบิน เพื่อขอออกซิเจนเพิ่มระหว่างเดินทาง
13. ภาวะการหายใจล้มเหลว
14. อาการเหนื่อย หอบขณะที่ไม่ได้ออกกำลัง หรือมีปัญหาโรคปอดเรื้อรังและรุนแรง
15. โรคปอดที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือที่อาการยังไม่คงที่สำหรับการเดินทาง
16. ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงทำให้ไม่สามารถหายใจเองได้ และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
17. โรคปอดบวมที่ยังอยู่ในระยะแพร่เชื้อ
18. โรควัณโรคปอด โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันบกพร่องที่ได้รับการรักษาไม่ถึง 15 วัน

 

- ผู้ป่วยโรคทางระบบสมอง หรือโรคหลอดเลือดในสมองผิดปกติ

1. ผู้ป่วยโรคลมชักที่อาการยังควบคุมไม่ได้ หรือผู้ป่วยหลังการผ่าตัดสมองไม่ถึง 2 อาทิตย์ โดยไม่มีอาการแทรกซ้อนยังไม่ควรเดินทาง ในกรณีที่เดินทางได้แพทย์ผู้รักษาอาจต้องเพิ่มขนาดของยากันชักให้สูงกว่าปกติเพื่อการป้องกัน เนื่องจากบนเครื่องออกซิเจนจะเบาบางกว่าทำให้เกิดภาวะพร่องออกซิเจน รวมทั้งอาการอ่อนเพลียจากการเดินทาง มีความวิตกกังวล หรือการเปลี่ยนเวลาจะทำให้อาเกิดการชักได้ง่ายขึ้น
2. โรคหลอดเลือดสมองที่ไม่มีอาการแทรกซ้อนผู้ป่วยลักษณะนี้จะมีปัญหาเนื่องจากเซลล์สมองได้รับออกซิเจนน้อยอยู่แล้ว และเมื่อโดยสารบนเครื่องภาวะพร่องก๊าซออกซิเจนจะเพิ่มขึ้นและทำให้เกิดอันตรายได้ ผู้ป่วยควรให้อาการทางสมองหายเป็นปกติ หรือมีอาการคงที่อย่างน้อย 2 อาทิตย์ก่อนการเดินทาง รวมทั้งให้แพทย์ผู้รักษาพิจารณาขอออกซิเจนเพิ่มบนเครื่อง
3. ผู้ป่วยอุบัติเหตุและสมองกระทบกระเทือนไม่ถึง 15 วัน
4. ภาวะคั่งน้ำในสมองที่ไม่ได้รับการรักษา หรือหลังการเจาะน้ำไขสันหลังไม่ถึง 1 อาทิตย์เพื่อไม่ให้เกิดการรั่วของน้ำไขสันหลัง
5. หลังการฉีดสีตรวจเส้นเลือดในสมองไม่ถึง 3 วัน
6. โรคทางจิตเวช ถ้าอาการยังไม่สงบไม่สามารถเดินทางได้ กรณีที่มีการรักษาและมีอาการปกติดีแล้วต้องมีแพทย์ พยาบาลหรือญาติที่สามารถควบคุมผู้ป่วยได้เดินทางด้วยและต้องได้รับคำรับรองจากจิตแพทย์ผู้รักษาว่ามีอาการสงบ และปลอดภัยสำหรับการเดินทางโดยเครื่องบิน บางครั้งเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและของผู้โดยสารอื่นแพทย์อาจจำเป็นต้องให้ยาระงับประสาทหรือยานอนหลับก่อนการเดินทาง

- ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินอาหาร

ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่ออยู่ในเครื่องบินคือการขยายตัวของก๊าซในทางเดินอาหาร 1. ผู้ป่วยที่มีการผ่าตัดช่องท้อง การขยายตัวของก๊าซในทางเดินอาหารอาจทำเกิดการแตกของแผลผ่าตัด ถ้าไม่มีอาการแทรกซ้อนควรเดินทางหลังการผ่าตัดอย่างน้อย 2 อาทิตย์ เพื่อให้ก๊าซในช่องท้องถูกดูดซึม
2. ผู้ป่วยที่มีการนำลำไส้ใหญ่มาเปิดที่หน้าท้อง (colostomy) ควรเตรียมนำถุง colostomy เพิ่มกว่าปริมาณที่ใช้ปกติสำหรับเปลี่ยนในระหว่างการเดินทาง
3. โรคลำไส้อุดตัน ทางเดินอาหารทะลุ หรือมีเลือดออกรวมทั้งเส้นเลือดโป่งพองที่หลอดอาหารแตก
4. อาการอาเจียนหรือท้องเสียรุนแรง
5. ผู้ป่วยที่เสียเลือดจากแผลในกระเพาะอาหารต้องให้เลือดหยุดสนิทก่อนและมีระดับความเข้มข้นของฮีโมโกลบินมากกว่า 10 กรัม/เดซิลิตรก่อนการเดินทาง
6. ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดทางเดินอาหารไม่ถึง 7 วัน
7. ผู้ที่ได้รับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ไม่ถึง 24 ชั่วโมง

 

- ผู้ป่วยโรคเส้นเลือดดำที่ขาอุดตัน

โรคนี้เป็นกลุ่มอาการของผู้ที่นั่งชั้นประหยัดที่นั่งคับแคบ ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวระหว่างอยู่บน ทำให้การไหลเวียนของเลือดจากขาสู่หัวใจไม่ดี เกิดอาการเท้าและขาบวม จนถึงอาการเส้นเลือดดำที่ขาอุดตัน วิธีป้องกัน คือควรสวมรองเท้าที่สบาย ไม่คับ หรือถอดรองเท้าระหง่างอยู่บนเครื่อง ขยับข้อเท้าและขาหรือลุกเดิน เพื่อให้โลหิตไหลเวียนดีขึ้น อย่านอนในท่าที่ส่วนขาของร่างกายถูกกด และไม่ควรใช้ยานอนหลับเพราะจะทำให้หลับลึกและไม่รู้สึกเวลาขาถูกทับนาน ๆ ขณะอยู่บนเครื่องต้องดื่มน้ำให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หรือกาแฟในกรณีที่ใช้เวลาเดินทางนานเพราะทำให้ปัสสาวะบ่อย เส้นเลือดขยายตัวอันเป็นสาเหตุส่งเสริมให้เกิดเส้นเลือดที่ขาอุดตัน สำหรับผู้ป่วยที่มีประวัติโรคหลอดเลือดดำอุตัน หรือมีลิ่มเลือดที่ปอดต้องมีการให้ยาป้องกันก่อนการเดินทาง

 

- ผู้ป่วยอื่นๆ ที่ยังไม่ควรเดินทางโดยเครื่องบิน

1. ผู้ป่วยโรคตาบางชนิด เช่น จอประสาทตาร่อนน้อยกว่า 3 อาทิตย์ก่อนเดินทาง ต้อหินกำเริบหรือได้รับการผ่าตัดไม่ถึง 1 เดือน โรคกระจกตาอักเสบที่แผลยังไม่หายสนิท
2. โรคไซนัสหรือโรคหูอักเสบเฉียบพลัน
3. ผู้ที่ได้รับได้รับการผ่าตัดหูไม่ถึง 3 เดือน
4. โรคเลือดจางที่มีค่าของความเข้มข้นของเลือดต่ำกว่า 10 กรัม/เดซิลิตร ไม่ควรเดินทางถ้าที่มี เนื่องจากปริมาณออกซิเจนจะไม่เพียงพอสำหรับร่างกาย
5. โรคที่ต้องใช้เครื่องมือทางการแพทย์ที่ต้องห้ามในการขึ้นเครื่อง
6. โรคติดเชื้อที่อยู่ในระยะแพร่เชื้อ (โรคอีสุกอีใส โรคหัด โรคคางทูม โรคไอกรน โรคงูสวัด)
7. โรคเอดส์ที่มีโรคแทรกซ้อนร้ายแรง
8. โรคเบาหวานที่ยังคุมน้ำตาลไม่ได้ยังไม่ควรเดินทางกรณีที่คุมน้ำตาลได้ควรติดต่อสายการบินเพื่อให้จัดเตรียมอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ควรนำยาติดตัวขึ้นเครื่องบินด้วยถ้ามีการใช้ยาฉีดพร้อมอุปกรณ์ต้องมีใบรับรองแพทย์แนบ การเดินทางทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเวลาควรต้องรักษาเวลาในการรับประทานอาหาร และยาโดยใช้เวลาของสถานีต้นทางแล้วค่อยปรับเปลี่ยนให้เข้ากับเวลาใหม่ของปลายทาง
9. ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุที่ยังต้องรอดูอาการแทรกซ้อน หรือกำลังอยู่ระหว่างการรักษา
10. ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดข่อไม่ถึง 7 วัน
11. ผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการใส่เฝือก ควรผ่าเฝือกก่อนการเดินทาง
12. ผู้ป่วยที่มีแผลขนาดใหญ่ หรือแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกที่อาการยังไม่ดี
13. ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่อาจมีอาการทรุดลงระหว่างเดินทาง

 

ถ้าคุณต้องการใช้เก้าอี้รถเข็น กรุณาคลิกที่นี่เพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม

 

- ผู้โดยสารที่มีอาการแพ้ถั่วลิสง

เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารของการบินไทยมีจำนวนมาก ดังนั้น การบินไทยจึงไม่สามารถรับรองได้ว่าท่านผู้โดยสารที่มีอาการแพ้ถั่วลิสงจะ อยู่ในบริเวณที่ปราศจากการสัมผัสกับถั่วลิสง ทั้งในเลาน์จ และบนเครื่องบิน หากการบินไทยได้รับแจ้งล่วงหน้า บริษัทฯจะสามารถจัดอาหารพิเศษให้แก่ผู้โดยสารได้อย่างถูกต้อง และผู้โดยสารจะได้รับการดูแลเอาใจใส่ให้ปลอดภัยได้ อย่างไรก็ตาม การบินไทยขอแนะนำให้ผู้โดยสารนำเอกสารการใช้ยา และสายข้อมือจากโรงพยาบาลที่ระบุอาการแพ้ถั่วลิสงติดตัวไปด้วย ซึ่งจะช่วยให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินสามารถช่วยเหลือผู้โดยสารได้ทันเวลา

คำแนะนำสำหรับผู้สูงอายุในการเดินทางโดยเครื่องบิน

การเตรียมตัวก่อนเดินทาง

1. ควรเดินทางไปในที่ไม่เสี่ยงต่อสุขภาพ
2. ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพก่อนการเดินทาง เตรียมยาที่จำเป็นติดตัวและเช็คเรื่องวัคซีนที่ควรได้รับ
3. กรณีที่มีโรคประจำตัว ควรรอให้มีอาการดีและปลอดภัยก่อนที่จะเดินทาง และควรมียาที่จำเป็นติดตัวขึ้นเครื่อง
4. จัดเตรียมเสื้อผ้าให้เหมาะกับสภาพอากาศของประเทศที่จะเดินทาง
5. ทำประกันสุขภาพสำหรับการเดินทาง

ข้อปฏิบัติขณะเดินทาง

1. ออกกำลังขณะอยู่บนเครื่องเพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดดำอุดตัน
2. ดื่มน้ำมากๆ และไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือดื่มกาแฟในปริมาณมากเพื่อป้องกันการขาดน้ำ

เมื่อถึงปลายทาง

1. ไม่ควรตากแดดนานเนื่องจากผู้สูงอายุเช่นเดียวกับเด็กเล็กจะเกิดอาการขาดน้ำได้ง่ายซึ่งทำให้เกิดอันตรายได้
2. พยายามดื่มน้ำมากๆ เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องขับถ่าย
3. หลีกเลี่ยงอาหารและน้ำที่ไม่สะอาด
4. นอนให้เพียงพอเพื่อที่จะปรับตัวให้เข้ากับเวลาปลายทาง
5. ดูแลความสะอาดผิวหนังเพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อ

การเดินทางโดยเครื่องบินกับผู้โดยสารเด็ก

- เมื่อทำการจองตั๋วโดยสารให้แจ้งข้อมูลของผู้โดยสารที่เป็นเด็กแก่เจ้าหน้าที่เพื่อให้สายการบินเตรียมการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารที่เป็นเด็ก เช่น เตรียมเปลสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 เดือน หรือหนักน้อยกว่า 10 กิโลกรัม และสูงไม่เกิน 67 เซนติเมตร เก้าอี้ติดรถยนต์สามารถนำขึ้นมาใช้ได้สำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี โดยซื้อที่นั่งเพิ่ม แต่ต้องเป็นรุ่นที่ได้รับการอนุญาตโดยองค์กรการบินระหว่างประเทศ
- ควรอุ้มเด็กเล็กไว้ระหว่างที่เครื่องขึ้นลง

- จัดเตรียมเสื้อผ้าที่อุ่นพอเนื่องจากอุณหภูมิบนเครื่องจะเย็นกว่าปกติ
- การเดินทางโดยเครื่องบิน ไม่แนะนำในทารกแรกเกิดอายุน้อยกว่า 2 สัปดาห์ เพราะทารกยังต้องปรับตัวจากการใช้ชีวิตนอกครรภ์มารดา และเพื่อให้แน่ใจได้ว่าทารกนั้นแข็งแรง และไม่มีความผิดปกติมาแต่กำเนิด
- เด็กที่มีโรคประจำตัว ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจนขณะโดยสารอยู่บนเครื่องบิน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเดินทางทุกครั้ง
- การเปลี่ยนความดันบรรยากาศภายในห้องโดยสารของเครื่องบิน ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของความดันในหูชั้นกลาง ทำให้เกิดอาการปวดหูได้ เพื่อลดอาการดังกล่าวควรให้เด็กดื่มนมหรือใช้จุกยางสำหรับเด็ก (เด็กโตอาจให้ดื่มนมจากแก้วหรือให้เคี้ยวหมากฝรั่ง) โดยเฉพาะขณะที่เครื่องทำการลง ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดภาวะสมดุลของความดันในหูชั้นกลางได้
- เด็กที่มีอาการเมาเครื่องบินควรรับประทานยาครึ่งชั่วโมงก่อนออกเดินทาง

 

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อที่สำนักงานการบินไทย