This is a cache of https://www.thaiairways.com/th_TH/help/special_request_assistance/help_well_being.page. It is a snapshot of the page at 2024-10-07T01:25:41.989+0700.
Health and Well-Being onboard | Thai Airways

บริการช่วยเหลือ

เดินทางสบายๆ กับการบินไทย

การตรวจสุขภาพก่อนการเดินทาง

ผู้โดยสารระหว่างประเทศควรตรวจสอบและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพและข้อมูลการฉีดวัคซีนก่อนการเดินทาง และควรศึกษาข้อควรระวังและข้อมูลสถานการณ์ของประเทศปลายทางทั้งก่อนและระหว่างการเดินทาง

 

ระหว่างอยู่บนเครื่อง

การเดินทางโดยเครื่องบินอาจทำให้เกิดความอ่อนล้า ความเครียด ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ปวดหู เท้าบวม ปวดเมื่อย นอนไม่หลับ หรือที่ร้ายแรงที่สุดคือเส้นเลือดดำที่ขาอุดตัน

วิธีหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้เพื่อให้การเดินทางราบรื่น คือ

- อย่ารับประทานอาหารหนัก และมีปริมาณมากเมื่ออยู่บนเครื่อง

- สูดหายใจลึกๆ พยายามผ่อนคลายอารมณ์เพื่อลดการหลั่งของกรดในกระเพาะอาหารอันเป็นสาเหตุของอาการท้องอืด
- พยายามดื่มน้ำเปล่า หรือน้ำผลไม้ให้มากๆ และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือมีกาเฟอีนเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
- ใช้แว่นสายตาแทนการใส่คอนแทคเลนส์ เนื่องจากตาจะแห้งกว่าปกติเมื่ออยู่บนเครื่องบิน ถ้าต้องการใช้คอนแทคเลส์ควรหยอดน้ำตาเทียมเป็นระยะ
- ทาครีมบ่อยๆ เพื่อไม่ให้ผิวแห้ง
- ใส่เสื้อผ้าที่ไม่คับเกินไป ถอดรองเท้าระหว่างอยู่บนเครื่อง และพยายามเดินเพื่อลดอาการปวดเมื่อยจากการนั่งนานๆ
- บริหารร่างกาย ขยับขาและข้อเท้าตามคำแนะนำบนเครื่อง
- ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับยารับประทานก่อนขึ้นเครื่อง หากท่านมีอาการเมาเครื่องบิน และพยายามมองวัตถุที่นิ่งเมื่อเครื่องบินตกหลุมอากาศ เพื่อลดอาการเมาเครื่องบิน
- ล้างมือบ่อยๆ เพื่อสุขอนามัย
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรปรับการรับประทานยาและอาหารตามเขตเวลาที่เปลี่ยนแปลง สำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องฉีดยาอินซูลินควรแจ้งสารการบินก่อนออกเดินทาง รวมทั้งเตรียมใบรับรองแพทย์ (ภาษาอังกฤษ) ไว้เมื่อต้องนำเข็มและหลอดฉีดยาขึ้นเครื่อง

 

อาการที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเดินทางโดยเครื่องบิน

อาการปวดหูหรือปวดโพรงจมูก

เวลาเครื่องขึ้นลงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงความกดดันอากาศในเครื่อง ผู้โดยสารที่เป็นโรคภูมิแพ้ ไซนัสเรื้อรังจะมีอาการมากกว่าผู้โดยสารอื่น อากาศในเครื่องจะแห้งกว่าปกติทำให้เยื่อบุโพรงจมูกบวม ท่อที่เชื่อมระหว่างหูส่วนกลางและโพรงจมูกจะทำงานไม่ได้ดี และเมื่อเครื่องลงอาการปวดหูหรือหูอื้อจะเป็นมากขึ้น อาการเหล่านี้จะบรรเทาได้ถ้าปฏิบัติตัวดังนี้
- ดื่มน้ำมากๆ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ร่างกาย
- ใช้ยาลดบวมพ่นจมูก หรือรับประทานยาแก้แพ้ประมาณ 30 นาทีก่อนเครื่องลงเพื่อลดอาการบวมของท่อที่เชื่อมหูส่วนกลางและโพรงจมูก
- เคี้ยวหมากฝรั่ง อ้าปากหาวกว้างๆ หรือใช้มืออุดจมูกแล้วเป่าลมแรงๆ (Vasalva) เพื่อช่วยลดอาการหูอื้อ

 

อาการอ่อนเพลียจากการเดินทางข้ามเขตเวลาบนเที่ยวบินระยะไกล

อาจทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ อ่อนเพลีย วิงเวียน ท้องผูก ความตื่นตัวลดลง อาการเหล่านี้จะเป็นมากในผู้สูงอายุ ผู้ที่เดินทางกลางคืน หรือเดินทางจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก การเตรียมตัวดังต่อไปนี้จะช่วยลดอาการอ่อนเพลียจากการเดินทางได้
- ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
- อาจใช้ยาเมลาโทนินหรือยานอนหลับอ่อนๆ ช่วย (ห้ามใช้เมลาโทนินในเด็ก ผู้ใช้ยาละลายลิ่มเลือด ผู้มีโรคลมชัก)
- นอนและตื่นให้เร็วขึ้น 1 ชั่วโมงเป็นเวลา 3 วันก่อนการเดินทางจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก และในทิศตรงข้ามนอนและตื่นให้ช้าลง
- เมื่อเดินทางถึงที่หมายแสงสว่างจากดวงอาทิตย์สามารถช่วยในการปรับตัว

 

โรคหลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน

โรคนี้มีเรียกอีกชื่อว่าโรคของผู้โดยสารชั้นประหยัด มักจะเกิดขึ้นเมื่อต้องเดินทางระยะไกล รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศในเครื่อง ความชื้น และ ปริมาณออกซิเจนที่ลดลง การที่ต้องนั่งนานๆ การที่ดื่มน้ำไม่พอ โรคนี้อาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิต คือการอุดตันของหลอดเลือดดำในปอด โรคหลอดเลือดดำที่ขาอุดตันอาจเกิดหลังการเดินทางมาแล้วหลายวัน อาการที่แสดงมี ปวดน่อง ข้อเท้าและน่องบวมตึง มีไข้ หรือมีอาการวิงเวียน โรคนี้ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในผู้โดยสารกลุ่มเสี่ยง เช่น
- มีอายุเกิน 40 ปี
- มีประวัติหลอดเลือดดำอุดตัน
- เพิ่งได้รับการผ่าตัด โดยเฉพาะการผ่าตัดช่องท้อง สะโพก หรือขา
- ผู้ที่ไม่ได้เคลื่อนไหวเป็นเวลานาน
- มีปัญหาเรื่องการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ หรือมีปัญหาเลือดข้น
- กำลังตั้งครรภ์ หรือเพิ่งคลอดบุตร
- เป็นโรคมะเร็ง
- มีประวัติโรคหัวใจ
- รับประทานฮอร์โมนเพื่อการรักษา ได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจน รับประทานยาคุมกำเนิด
- มีเส้นเลือดขอด
- น้ำหนักเกินมากไป

 

เพื่อลดการเกิดโรคนี้ ควรปฏิบัติดังนี้

- ใส่เสื้อผ้าหลวมสบาย
- สวมถุงน่องสำหรับผู้ที่เป็นโรคเส้นเลือดขอด
- ดื่มน้ำมากๆ ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือกาแฟ
- อย่านำกระเป๋าถือไว้ใต้เก้าอี้ข้างหน้า เพื่อให้สามารถขยับขาได้
- ลุกเดินบ่อยๆ
- ผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรขอคำแนะนำจากแพทย์ก่อนเดินทางเพื่อให้ยาป้องกันประเภทยาฉีดเฮปารีนหรือยาแอสไพริน 
- บริหารร่างกายตามคำแนะนำที่มีบนเครื่อง

 

ความช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหาสุขภาพบนเครื่อง

บริษัทการบินไทยฯ เช่นเดียวกับสายการบินพาณิชย์อื่นๆ จะมียาและเวชภัณฑ์ฉุกเฉินที่จำเป็นตามกฎการบินอยู่บนเครื่อง พนักงานต้อนรับจะได้รับการฝึกเพื่อการช่วยเหลือเบื้องต้น อาจมีการประกาศขอความช่วยเหลือจากแพทย์ที่เดินทางอยู่ในเที่ยวบินนั้น ยาและเวชภัณฑ์ฉุกเฉินมีดังนี้
- กระเป๋าฉุกเฉินเบื้องต้นสำหรับพนักงานต้อนรับใช้ปฐมพยาบาลเบื้องต้น
- กระเป๋าช่วยชีวิต (มีกระเป๋าขาว และดำอย่างละหนึ่งใบ) เป็นกระเป๋ายาฉุกเฉินที่จะเปิดโดยแพทย์เพื่อใช้ช่วยเหลือผู้ป่วยหรือเมื่อมีการต้องใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจอัตโนมัติ
- เครื่องกระตุ้นหัวใจอัตโนมัติ ซึ่งพนักงานต้อนรับได้รับการฝึกการใช้งานเมื่อจำเป็น
- รถเข็นบนเครื่องสำหรับเที่ยวบินระยะยาว

ข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัย

โปรดระวังของร้อน

ระหว่างเที่ยวบินของท่าน พนักงานต้อนรับอาจให้บริการท่านด้วยเครื่องดื่มร้อน ดังนั้นเพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากการถูกน้ำร้อนลวก ใคร่ขอความร่วมมือจากผู้โดยสารดังนี้ - กรณีพนักงานต้อนรับใช้ถาดเพื่อบริการเครื่องดื่ม กรุณารอจนพนักงานรินเครื่องดื่มให้ท่านเสร็จเรียบร้อยก่อน แล้วจึงหยิบแก้วเครื่องดื่มด้วยความระมัดระวัง - กรณีไม่ใช้ถาดเพื่อบริการ กรุณถือแก้วที่บริเวณด้ามจับและรอจนพนักงานรินเครื่องดื่มใส่แก้วให้ท่านเสร็จเรียบร้อยก่อน แล้วจึงค่อยดึงแก้วกลับ มิเช่นนั้นเครื่องดื่มร้อน หกรดท่านผู้โดยสารจนเกิดอาการบาดเจ็บได้

การนอนบนพื้นในห้องโดยสาร

เก้าอี้นั่งของท่านผู้โดยสารในเครื่องบินทุกแบบของบริษัทการบินไทยฯได้ถูกออกแบบให้มีความเหมาะสมสะดวกสบายและปลอดภัยถูกต้องตามกฏการบินสากล แต่ในบางเที่ยวบินที่ใช้เวลายาวนาน การที่ท่านผู้โดยสารบางท่านอาจต้องการเปลี่ยนอิริยาบทด้วยการลงไปนอนที่พื้นในห้องโดยสารตรงที่นั่งของท่านเองนั้น เป็นเรื่องที่อาจส่งผลต่อความปลอดภัยในการเดินทางของท่าน เนื่องจากการนอนพักผ่อนบนพื้นซึ่งแม้จะมองด้วยตาเปล่าว่าสะอาดเรียบร้อยแต่ก็อาจมีฝุ่นละอองเล็กๆกระจายขึ้นมาจนทำให้ท่านเกิดอาการแพ้และเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ประกอบกับออกซิเจนบนเครื่องก็อาจกระจายลงไปได้ไม่เต็มที่และเพียงพอในส่วนพื้น อันจะเป็นผลให้ท่านหายใจไม่สะดวกตลอดเวลาที่พักผ่อนซึ่งเมื่อตื่นนอนอาจเกิดการวิงเวียนมึนงง และที่สำคัญที่สุดคือการนอนบนพื้นที่อยู่ใกล้ชิดกับโลหะที่ประกอบเป็นเก้าอี้โดยสารและส่วนที่เป็นพื้นของห้องโดยสาร เมื่อเกิดสภาวะอากาศแปรปรวนอาจทำให้เกิดการกระแทกรุนแรงจนเกิดอาการบาดเจ็บได้